สนามม้านางเลิ้ง

สนามม้านางเลิ้ง
ตำนาน 102 ปี สนามไทย
“ไปอีกแล้ว ไปอีกแล้ว จะติดใจอะไรนักหนากับสนามม้านางเลิ้งนะ” เสียงป้าข้างบ้านตะโกนโหวกเหวกบ่นสามีตัวเองที่แอบไปสนามม้านางเลิ้งเป็นประจำ โดยฉพาะในวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ดูเหมือนจะเป็นนาฬิกาปลุกของเด็กข้างบ้านอย่างเราก็ว่าได้
ความเป็นเด็ก ไม่รู้ประสีประสา ได้ยินคำว่า “สนามม้านางเลิ้ง” บ่อยๆ ก็ให้นึกสงสัยว่า คืออะไรนะ เกี่ยวอะไรกับม้า แล้วทำไมลุงข้างบ้านถึงชอบไป ทั้งที่เมื่อไปแล้วกลับทำให้ภรรยาของตัวเองโกรธเป็นฟืนเป็นไฟทุกครั้ง
เรื่องราวประวัติศาสตร์บนพื้นที่ 279 ไร่ บนถนนพิษณุโลก เขตดุสิต ของสนามม้านางเลิ้งนั้น คงต้องย้อนกลับไปถึงวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินกลับจากการเสด็จประพาสยุโรปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2440 (ร.ศ.116) ทางฝ่ายราชการได้จัดพระราชพิธีรับเสด็จฯ และกลุ่มผู้ที่เคยเดินทางไปยุโรปส่วนหนึ่งได้จัดการแข่งม้าถวาย โดยในครั้งนั้นได้ขอพระทานราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้สนามทุ่งพระเมรุ หรือ สนามหลวง เป็นสนามแข่งม้าชั่วคราว และถือเป็นการนำกีฬาแข่งม้าเข้าสู่ประเทศไทยในยุคแรก
ครั้นถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 6 พระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดินของกรมอัศวราช เนื้อที่ 279 ไร่ บนถนนพิษณุโลก เขตดุสิต เพื่อขอพระบรมราชานุญาตตั้งสโมสรสนามม้า หรือ “สนามไทย” เพื่อให้บริการแข่งม้าสำหรับคนไทย และนำรายได้ไปใช้บำรุงพันธุ์ม้าซึ่งนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียและอังกฤษ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานการแข่งม้าเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อให้ว่า “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสนาม” และยังเสด็จพระราชดำเนิน เปิดสนามม้านางเลิ้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในภายหลังเป็น “ราชตฤนมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์” แต่ประชาชนนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “สนามม้านางเลิ้ง”
อันที่จริงคำว่า “สนามม้านางเลิ้ง” นั้น แต่เดิมถูกเรียกชื่อให้จดจำกันง่ายตามการเรียกชื่อย่านที่ตั้ง นั่นก็คือ ย่านนางเลิ้ง หรือในอดีตผู้คนเรียกย่านนี้ว่า “บ้านสนามควาย” ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเรียกกันว่า “บ้านอีเลิ้ง” ตามชื่อภาชนะใส่น้ำของชาวมอญ ซึ่งนิยมขนใส่เรือล่องไปจอดขายอยู่บริเวณนั้น
กระทั่งในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศ “บ้านสนามควายหรือบ้านอีเลิ้ง” ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “นางเลิ้ง” เพื่อให้ฟังดูสุภาพและมีอารยะมากขึ้น
นอกจากสนามม้านางเลิ้ง เปิดดำเนินการแข่งม้า แน่นอนย่อมต้องมีการพนันขันต่อที่เรียกกันว่า “แทงม้า” โดยถูกฏหมาย ย่านนางเลิ้งยังมี “โรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมธานี” หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “โรงหนังนางเลิ้ง” โรงภาพยนตร์แห่งนี้สร้างความคึกคักให้กับชาวนางเลิ้งและผู้ที่เดินทางไปชมมาโดยตลอด กระทั่งปิดตัวลงไปเมื่อ พ.ศ. 2536
นอกจากนี้ที่ดินส่วนหนึ่งของกรมอัศวราช ยังถูกกันและสร้างเป็นโรงเรียนขึ้น สืบสานจากปณิธาณของสมเด็จพระเจ้าเจ้าหัวรัชกาลที่ 6 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 6 ไร่ 3 งาน 34.5 ตารางวา
ที่ดินแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งของกรมอัศวราช สร้างเป็นโรงเรียนขึ้น มีจุดประสงค์ในการรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนราชวินิต (ประถม) รวมทั้งบุตรหลานข้าราชบริพารให้เข้าศึกษา และพระราชทานนามโรงเรียนว่า “ราชวินิต มัธยม” อันหมายถึง สถานที่อบรมกุลบุตร กุลธิดาในระดับมัธยมให้เป็นคนดีแห่งพระบารมีปกเกล้า และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระมหามงกุฎเปล่งรัศมี มีเลขลำดับรัชกาล เลข ๙ ไทย เป็นตราประจำโรงเรียน
สนามม้านางเลิ้งเปิดดำเนินการและมีความคึกคักยาวนาน กระทั่งในระยะหลังกิจการของสนามม้านางเลิ้งเริ่มซบเซา และแม้จะมีความพยายามที่จะหารายได้เพิ่มเติมจากการให้บริการกีฬาหลากหลายประเภท และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น สนามเทนนิส สระว่ายน้ำ ห้องอาหาร ห้องจัดเลี้ยงต่างๆ
แต่ทว่าสนามม้านางเลิ้งก็ยังประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องกว่า 1,300 ล้านบาท
ในที่สุดสนามม้านางเลิ้ง สนามม้าแห่งสยาม สนามม้าไทยแห่งแรกก็จำต้องปิดตำนานลง โดยมีการแข่งขันนัดสุดท้ายหรือนัด “สั่งลา” ในวันที่ 16 ก.ย. 2561 ปิดฉาก 102 ปีของสถานที่แข่งม้าประวัติศาสตร์นี้ลงอย่างสมบูรณ์
และแม้จะมีการรื้อถอนราชตฤณมัยสมาคมหรือสนามม้านางเลิ้งออกไป เพื่อสร้างเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติ แต่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ยังพระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย คงให้โรงเรียนราชวินิตมัธยมดำเนินกิจการให้ความรู้และการศึกษาต่อไป และถือเป็นโรงเรียนของพ่อ ที่ยังอยู่เคียงกับอุทยานเฉลิมพระเกียรติของพ่อสืบไป

เขียนถึงบรรทัดนี้ ก็ให้นึกสงสัยว่า หรือ 4 ปีที่แล้ว ลุงข้างบ้านเดิมคนนั้น จะไปเป็นหนึ่งในเซียนม้าหรือแฟนอาชากับ “นัดสั่งลา” สนามม้านางเลิ้งในวันนั้นหรือไม่นะ