จิ๋วแต่แจ๋ว

การละเล่นไทยที่ยังได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้และสามารถพนันขันต่อกันได้อย่างถูกกฎหมายซึ่งได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง หากใครไม่รู้อาจคิดได้ว่าเจ้าของสถานที่แห่งนี้ต้องเส่นใหญ่ถึงใหญ่มากจึงสามารถมีคนมานั่งล้อมวงดูได้ไม่มีตำรวจมาจับ การละเล่นชนิดนี้ก็คือการกัดจิ้งหรีด กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยออกใบอนุญาตให้ถือว่าเป็นการอนุรักษ์การละเล่นไทยอีกทางหนึ่ง ซึ่งเล่นกันกลางวันเพื่อมองเห็นจิ้งหรีดที่กัดกันได้ชัดเจน จะมีคนมาดูทั้งหมู่บ้านใกล้เคียง ต่างอำเภอ และต่างจังหวัด คนมานั่งล้อมวงกันชนิดที่ว่ามองจากระยะ 50 เมตรก็เห็นแล้วว่านั่งล้อมวงเล่นการพนันกันอย่างแน่นอนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่นั่งรวมตัวกันเป็นวงกลมจ้องมองในโถแก้ว  การแข่งขันจิ้งหรีดนี้เล่นกันมาตั้งแต่คุณตาคุณยายฉันยังเป็นเด็กน้อยซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเล่นกันอยู่

คนในวงการจิ้งหรีดจะรู้ว่าเด็กคนไหนที่หาจิ้งหรีดเก่งหรือผู้ใหญ่คนไหนที่หาจิ้งหรีดเก่งเด็กคนนั้นหรือผู้ใหญ่คนนั้นจะได้ค่าตอบแทนอย่างสูงในการหาจิ้งหรีด พวกเขาเข้าไปหาจิ้งหรีดในป่า ในดงหญ้า ในสวน ไม่ว่าที่ไหนที่มีจิ้งหรีดชุกชุมเขาจะรู้ บางครั้งก็ไปตั้งแต่ตอนเช้าเอาไฟฉายไปส่องหรือไปตั้งแต่ตอนเย็นเพื่อไปหาจิ้งหรีดตัวที่เสียงดี บางครั้งจิ้งหรีดอยู่ในรูต้องเอาไม้ไปแหย่ในรูล่อให้มันออกมาแล้วเก็บใส่กระป๋องแยกกันไว้กระป๋องละตัวกระป๋องก็เหมือนกระป๋องไม้ไผ่เจาะรูให้จิ้งหรีดหายใจ ถ้าหากเอาไว้รวมกันมันจะกัดกัน  บางคนเอาไม้ไผ่มัดรวมไว้หลายอันในมัดเดียว ด้านหนึ่งมีรู อีกด้านเอาฟางอุดไว้ให้จิ้งหรีดออกไม่ได้ เก็บจิ้งหรีดได้ก็เอาไว้ในกระบอกไม้ไผ่ไว้ เมื่อถึงบ้านก็เอามาใส่ไว้ในกระโถนเหมือนที่เราเห็นในวัดกระโถนที่พระท่านไว้ทิ้งขยะกระโถนสังกะสีนั่นเอง ด้านล่างของกระโถนรองไว้ด้วยดินเหนียวอัดจนแข็งจากนั้นคนเลี้ยงจิ้งหรีดจะมาทำการทดสอบว่าจริงหรีดตัวนั้นๆ เสียงดีและเป็นนักสู้แค่ไหนโดยการใช้ไม้ทางมะพร้าวด้านที่อ่อนผูกผมไว้หนึ่งเส้นแล้วเอาไปล่อจิ้งหรีด จิ้งหรีดจะนึกว่าผมเส้นนี้คือหนวดของจิ้งหรีดอีกตัวตัวที่อยู่ในกระโถนจะต่อสู้และส่งเสียงดังไม่ให้ใครมารุกรานถิ่นของตัวเอง วิ่งเข้าไปหาพร้อมที่จะต่อสู้เพราะนึกว่าผมนั้นคือหนวดจิ้งหรีดอีกตัวที่จะมาแย่งอาณาเขตมัน ถ้าตัวไหนไม่มีทีท่าจะต่อสู้จะถูกปล่อยกลับเข้าไปในป่า

จิ้งหรีดที่ถูกคัดเลือกแล้วจะถูกทำการฝึกโดยใช้ผมหลอกล่ออยู่เป็นประจำ และยังได้กินอาหารโปรดคือเม็ดบัวและหญ้าแพรกอีกด้วย เมื่อถึงวันที่ต้องลงแข่ง ซึ่งหนึ่งเดือนจะแข่งกันสองนัด คือ อาทิตย์ที่ 2และอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน จิ้งหรีดจะถูกใส่เข้าไปในโถแก้วซึ่งข้างล่างรองไว้ด้วยดินเหนียวจิ้งหรีดอีกฝั่งนึงก็จะถูกส่งเข้าไปด้วยกันจากนั้นจิ้งหรีดจะต่อสู้ไล่เพื่อครอบครองอาณาเขตของตัวเอง จิ้งหรีดจะหันหน้าเข้ามาชนกันแล้วจะกัดกันหากตัวไหนแพ้ ตัวนั้นจะวิ่งหนี ไม่ต้องการกัดต่อไป บางคู่กัดกันถึง 2 นาทีแต่บางคู่กัดกันกันแค่ 10 วินาที

การแข่งขันจิ้งหรีดนี้เดิมพันกันตั้งแต่ 100  บาทจนถึงหลักพันและหลักหมื่น ไม่ว่าจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านชาวบ้านธรรมดาหรือแม้แต่เด็กเล็กๆเมื่อมีเวลาลงแข่งชาวบ้านจะรวมตัวกันมาดูจิ้งหรีดกัดกันมานั่งพนันว่าจิ้งหรีดฝั่งไหนจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งจะรู้ผลได้เสียภายในเวลาที่จิ้งหรีดกัดกันเสร็จ บางคู่ไม่เกิน 10 วินาที อย่าเห็นว่าตัวเล็กแบบนี้ ค่าตัว ต่อยก บางยกแค่สิบวินาที รายได้ที่เข้ากระเป๋าเมื่อจิ้งหรีดเราชนะประมาณ 20,000 บาทเป็นอย่างน้อย

อย่างที่ฉันเล่าให้ฟังว่าทั้งประเทศไทยมีสองจังหวัดที่ได้รับการอนุญาตให้กัดจิ้งหรีดอย่างถูกกฎหมายกันอยู่ทุกวันนี้คือจังหวัดชลบุรีและจังหวัดเพชรบุรี เพราะมันคือการละเล่นของไทยอีกอย่างหนึ่งซึ่งยังคงอนุรักษ์เอาไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าจำนวนจิ้งหรีดลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะมีคนเอาไปทอดขาย มหาวิทยาลัยนเรศวรเองได้มีการทำงานวิจัยนวัตกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากจิ้งหรีดและพืชเพื่อเตรียมการรับมือวิกฤติขาดแคลนอาหารที่เกิดจากสภาพความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งสรุปได้ความว่าจิ้งหรีดจะเป็นเมนูโปรตีนทางเลือกอีกอันหนึ่ง เช่นนี้ทำให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดในการเพาะขายเป็นจำนวนมากฉันไม่อยากจะบอกว่าไอศครีมรสชาติที่ดังหนักหนาตอนนี้ก็คือไอศครีมจิ้งหรีดนี่เอง ข่าวว่าคนที่กินแล้วบอกว่าอร่อยเหาะ น่าสงสารพี่น้องร่วมชาติที่รักการละเล่นไทยอันนี้จากนี้ไปจะไปหาจิ้งหรีดมากัดกันจากไหน หากกินกันหมดเสียแล้ว